สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑  ในประมวลกฎหมายนี้


(๑) “โดยทุจริต” หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น


(๒) “ทางสาธารณะ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดิน สำหรับประชาชนโดยสารด้วย


(๓) “สาธารณสถาน” หมายความว่า สถานที่ใด ๆ ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้


(๔) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัย และให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม


(๕) “อาวุธ” หมายความรวมถึงสิ่งซึ่งไม่เป็นอาวุธโดยสภาพ แต่ซึ่งได้ใช้หรือเจตนาจะใช้ประทุษร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัสอย่างอาวุธ


(๖) “ใช้กำลังประทุษร้าย” หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน


(๗) “เอกสาร” หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น


(๘) “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย


(๙) “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ


(๑๐) “ลายมือชื่อ” หมายความรวมถึงลายพิมพ์นิ้วมือและเครื่องหมายซึ่งบุคคลลงไว้แทนลายมือชื่อของตน


(๑๑) “กลางคืน” หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น


(๑๒) “คุมขัง” หมายความว่า คุมตัว ควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก


(๑๓) “ค่าไถ่” หมายความว่า ทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่เรียกเอา หรือให้เพื่อแลกเปลี่ยนเสรีภาพของผู้ถูกเอาตัวไป ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือผู้ถูกกักขัง


(๑๔)  “บัตรอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า
(ก) เอกสารหรือวัตถุอื่นใดไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ ซึ่งจะระบุชื่อหรือไม่ก็ตาม โดยบันทึกข้อมูลหรือรหัสไว้ด้วยการประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน ซึ่งรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสงหรือวิธีการทางแม่เหล็กให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข รหัส หมายเลขบัตร หรือสัญลักษณ์อื่นใด ทั้งที่สามารถมองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
(ข) ข้อมูล รหัส หมายเลขบัญชี หมายเลขชุดทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือทางตัวเลขใด ๆ ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ โดยมิได้มีการออกเอกสารหรือวัตถุอื่นใดให้ แต่มีวิธีการใช้ในทำนองเดียวกับ (ก) หรือ
(ค) สิ่งอื่นใดที่ใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของ


(๑๕)  “หนังสือเดินทาง” หมายความว่า เอกสารสำคัญประจำตัวไม่ว่าจะมีรูปลักษณะใดที่รัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศออกให้แก่บุคคลใด เพื่อใช้แสดงตนในการเดินทางระหว่างประเทศ และให้หมายความรวมถึงเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางและแบบหนังสือเดินทางที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับผู้ถือหนังสือเดินทางด้วย


(๑๖)  “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่


(๑๗) “สื่อลามกอนาจารเด็ก” หมายความว่า วัตถุหรือสิ่งที่แสดงให้รู้หรือเห็นถึงการกระทำทางเพศของเด็กหรือกับเด็กซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปี โดยรูป เรื่อง หรือลักษณะสามารถสื่อไปในทางลามกอนาจาร ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของเอกสาร ภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพ ภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียง แถบบันทึกภาพ หรือรูปแบบอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน และให้หมายความรวมถึงวัตถุหรือสิ่งต่าง ๆ ข้างต้นที่จัดเก็บในระบบคอมพิวเตอร์หรือในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นที่สามารถแสดงผลให้เข้าใจความหมายได้


(๑๘)  “กระทำชำเรา” หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น

 

คำอธิบาย

ประมวลฎหมายอาญา มาตรา 1 นั้น เป็นมาตราที่กำหนดคำนิยามของคำศัพท์ในประมวลกฎหมายอาญาเอาไว้ ซึ่งการตีความของคำศัพท์นั้นๆ จะต้องตีความไปในทางของคำนิยามคำศัพท์ตามมาตรา 1 เพื่อให้เกิดการตีความกฎหมายไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น คำนิยามตามมาตรา 1 นั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการอ่านและใช้ประมวลกฎหมายอาญา

 

โดยการตีความกฎหมายตามคำศัพท์ตามมาตรา 1 นั้น ศาลได้ตัดสินคดีโดยใช้การตีความตามมาตรา 1 ดังนี้

 

คำพิพากษาศาลที่เกี่ยวข้อง

การให้ความหมายเกี่ยวกับคำว่า กระทำชำเรา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2562 ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ออกใช้บังคับ โดยมาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (18) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา "(18) "กระทำชำเรา" หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น" มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน แต่ความใหม่มิได้บัญญัติให้การใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่นเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีกต่อไป แต่การที่จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศเป็นการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศแก่ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยเด็กนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง (เดิม)

 

การตีความและใช้คำศัพท์ของคำว่า ใช้กำลังประทุษร้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12983/2558 การที่จำเลยแอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของโจทก์ร่วม และบันทึกภาพสรีระร่างกายของโจทก์ร่วมตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขามองเห็นกระโปรงที่โจทก์ร่วมสวมใส่ ขาท่อนล่างและขาท่อนบนของโจทก์ร่วม โดยที่กล้องบันทึกภาพมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่างเพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงของโจทก์ร่วมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยที่โจทก์ร่วมมิได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จำเลยจะมิได้สัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมโดยตรง แต่การที่จำเลยใช้กล้องบันทึกภาพใต้กระโปรงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ชิด โดยโจทก์ร่วมไม่รู้ตัวย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลอันไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 1 (6) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 นอกจากหมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายแล้ว ยังหมายความว่าทำการประทุษร้ายแก่จิตใจด้วย ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมต้องรู้สึกสะเทือนใจอับอายขายหน้า จึงถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของโจทก์ร่วมแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วม ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278

 

การตีความและใช้กฎหมายของคำศัพท์ว่า เอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12650 - 12651/2558 ตาม ป.อ. มาตรา 1 (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ส่วน "สำเนา" ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง ข้อความหรือภาพที่ผลิตซ้ำจากต้นแบบหรือต้นฉบับ ดังนั้นตามคำจำกัดความของคำว่า "เอกสาร"ภาพถ่ายกระดาษก็อาจเป็นต้นฉบับเอกสารได้ถ้าผู้กระทำได้กระทำเพื่อให้ปรากฏความหมายไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างใด ๆ ก็ตาม จากลักษณะเอกสารหมาย จ.1 นอกจากจะมีส่วนที่พิมพ์เป็นตัวหนังสือและตัวเลขด้วยเครื่องพิมพ์ดีดแล้ว ยังมีข้อความเขียนกำกับแสดงความหมายเป็นตัวเลขและตัวหนังสือทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วย เอกสารหมาย จ.6 แผ่นแรกก็เขียนเป็นตัวหนังสือกับตัวเลขด้วยปากกา และอีกสี่แผ่นแนบท้ายก็เป็นแบบแปลนการก่อสร้างที่มีทั้งตัวเลขและตัวหนังสือกำกับซึ่งแบบแปลนดังกล่าวแม้จะดูว่าถ่ายมาจากแบบแปลนอีกฉบับหนึ่งก็ตาม แต่ตัวเลขและตัวหนังสือที่กำกับก็แสดงโดยชัดแจ้งว่าผู้กระทำประสงค์จะกระทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแผนแบบอย่างอื่น ตามความหมายของคำว่า "เอกสาร" ดังนั้นเอกสารหมาย จ.1 และ จ.6 จึงเป็นต้นฉบับเอกสาร มิใช่สำเนาซึ่งชอบที่ศาลจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

 

การตีความและใช้กฎหมายของคำศัพท์ว่า โดยทุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10139/2557 จำเลยทั้งสี่เอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยมีเจตนาเพื่อจะตรวจดูว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นของจำเลยทั้งสี่ที่ถูกคนร้ายลักไปหรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นการเอาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงไม่เป็นการกระทำ "โดยทุจริต" ตามบทนิยามความหมายของคำว่า "โดยทุจริต" ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์เพราะขาดเจตนาพิเศษเรื่องการกระทำโดยทุจริตดังกล่าว ซึ่งย่อมส่งผลทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสี่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องไปด้วย และการกระทำของจำเลยทั้งสี่เช่นนี้หาใช่ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ซึ่งถือว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีเจตนากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง ประกอบวรรคสาม ดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่

 

 

การใช้กฎหมายและการตีความของคำว่า ค่าไถ่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7194 - 7195/2557 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ห้องพักเกิดเหตุก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ที่กู้ยืมไปจากกลุ่มของจำเลยทั้งหกให้แก่จำเลยที่ 1 ประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องให้ผู้เสียหายที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าไถ่ตามความหมายในบทนิยามคำว่า "ค่าไถ่" ตาม ป.อ. มาตรา 1 (13) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดฐานเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ โดยการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใด

การใช้กฎหมายและการตีความของคำศัพท์คำว่า อาวุธ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2557 เมื่ออาวุธปืนของกลางเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืนตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4 (5) ที่ทำเลียนแบบปืนพกออโตเมติกจึงถือไม่ได้ว่าสิ่งเทียมอาวุธปืนเป็นอาวุธโดยสภาพตามความหมายของบทนิยามในมาตรา 1 (5) แห่ง ป.อ. การพาสิ่งเทียมอาวุธปืนไปในเมืองหรือทางสาธารณะจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 ทั้งไม่ถือว่าการปล้นทรัพย์รายนี้ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วยตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง คงเป็นความผิดตามมาตรา 340 วรรคแรก เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ฎีกาในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมีอำนาจวินิจฉัยไปถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่ได้ฎีกาขึ้นมาด้วย เนื่องจากเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

 

การใช้กฎหมายและการตีความของคำว่า กลางคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3880/2557 ป.อ. มาตรา 1 (11) คำว่า "กลางคืน" หมายความว่า เวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายเมื่อระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ดังนั้น เวลาเกิดเหตุตามฟ้องของโจทก์คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกของวันที่ 20 สิงหาคม 2555 ถึงเวลา 24 นาฬิกา ของวันเดียวกัน และเวลา 0.01 นาฬิกา ของวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ไปแล้ว จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นของวันเดียวกัน จึงเป็นเวลากลางคืนของวันที่ 20 และ 21 สิงหาคม 2555 ติดต่อกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน

 

การใช้กฎหมายและการตีความของคำศัพท์คำว่า เอกสารสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21841/2556 คำรับรองการชี้แนวเขตที่ดินเป็นแบบพิมพ์ของทางราชการ มีไว้สำหรับให้ผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินนำไปกรอกข้อความและลงลายมือชื่อแสดงว่าตนครอบครองที่ดินมีอาณาเขตเท่าใด และนำไปประกอบเอกสารอื่นเพื่อให้เจ้าพนักงานกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดรูปที่ดินและทำระวางแผนที่ เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) ไม่เป็นเอกสารสิทธิ และเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยทำขึ้นเพื่อเสนอต่อเจ้าพนักงาน มิใช่เอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ จึงมิใช่เอกสารราชการ